โรงเรียนไม่เพียงแต่เป็นสถานที่ที่ให้ความรู้ แต่ยังปลูกฝังและฝึกฝนทักษะต่างๆ เพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตและการทำงาน เช่นเดียวกับ ดร.ประวิช รัตนเพียร ที่ได้สั่งสมประสบการณ์ของภาวะผู้นำจากรั้วโรงเรียนเซนต์คาเบรียลแห่งนี้ อีกทั้งยังหล่อหลอมให้มีจิตวิญญาณของการทำงานเพื่อส่วนรวมอีกด้วย
“ช่วงเวลาที่ผมเรียนเซนต์คาเบรียลเป็นชีวิตที่มีความสุข และเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้ผมสามารถใช้ในการศึกษาต่อ โดยผมเข้าเรียนที่นี่ตั้งแต่ชั้น ป.2 จนถึงมัธยมปลาย หลังจากนั้นศึกษาต่อปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านรัฐประศาสนศาสตร์ และปริญญาเอกด้านการอุดมศึกษา จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียสเตต ประเทศสหรัฐอเมริกา” ดร.ประวิช เริ่มต้นเท้าความเรื่องการศึกษาในระดับต่างๆ ให้เราฟัง
“เคยมีโอกาสได้ตามคุณพ่อไปปราศรัย ทำงานเป็น สส. และเป็นอดีตรัฐมนตรี และผมยังชอบชอบอ่านหนังสือและติดตามเรื่องสังคม การบ้านการเมืองต่างๆ จึงอยากเรียนต่อทางด้านรัฐศาสตร์ และคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศในช่วงเวลานั้น ส่วนในระดับปริญญาเอกเลือกเรียนด้านการอุดมศึกษา เนื่องจากครอบครัวประกอบกิจการโรงเรียนเอกชน และคุณพ่อคุณแม่ตั้งใจว่าอยากขยับขยายให้เป็นมหาวิทยาลัย”
หลังจากเรียนจบคุณประวิชได้ร่วมงานกับทางมหาวิทยาลัยและรัฐบาลเพนซิลเวเนีย ก่อนจะกลับมาทำงานที่เมืองไทย “ผมกลับมาช่วยช่วยคุณพ่อคุณแม่ดูแลโรงเรียนดุสิตพณิชยการและพณิชยการสีลม ก่อนจะได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้พิพากษาสมทบในศาลแรงงานกลาง ถือเป็นการเริ่มต้นทำงานด้านตุลาการ จากนั้นได้ทำงานการเมืองทางด้านนิติบัญญัติ โดยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานครครั้งแรก อีกทั้งยังได้รับคำเชิญชวนให้ช่วยจัดตั้งพรรคการเมือง และลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จังหวัดนครราชสีมา นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้ทำงานด้านบริหารอีก 2 ครั้งด้วยกันคือ ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หลังจากนั้นได้ยุติบทบาททางการเมืองตั้งแต่ปี 2549”
ส่วนการทำงานด้านอื่นๆ คุณประวิชได้เล่าเพิ่มเติมว่า “ในด้านการศึกษาได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการการอุดมศึกษา ควบคุมนโยบายเกี่ยวกับการอุดมศึกษา ส่วนการทำงานด้านบริหารรัฐกิจมีโอกาสได้เป็นกรรมการบริหารของบริษัท การบินไทย จำกัดมหาชน อีกทั้งยังได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้ตรวจการแผ่นดินในปี 2554 และสุดท้ายคือเป็นกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อผมได้รับบทบาทนี้จึงยุติการทำงานด้านการเมืองลง เปรียบเสมือนว่าได้มาเป็นกรรมการผู้ตัดสินแล้ว จึงไม่กลับไปเป็นผู้เล่นอีก นอกจากนี้ยังได้ช่วยดูแลกิจการโรงเรียนของครอบครัว สานฝันคุณพ่อคุณแม่คือต่อยอดโรงเรียนเอกชนให้กลายเป็นวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต (RBAC) โดยเปิดสอนจนถึงระดับปริญญาเอก”
ย้อนกลับไปถึงเรื่องราวในรั้วโรงเรียนเซนต์คาเบรียล “อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าเป็นช่วงเวลาที่มีความสุข ซึ่งผมขอแยกออกเป็น 2 ส่วน เริ่มจากความสนุกสนานที่ได้อยู่กับเพื่อนๆ ถึงแม้ผมจะเข้ามาเรียนตอน ป.2 แต่ก็ได้รับน้ำใจจากเพื่อนๆ จึงไม่รู้สึกเหงาหรือแปลกแยก ผมยังจำเพื่อนคนแรกที่สอนวิธีดื่มน้ำแบบกดแล้วใช้ปากรองได้ เพราะเรามาจากที่อื่นไม่คุ้นเคยว่าต้องทำอย่างไร หรือเรื่องการต่อแถวเข้าคิวซื้ออาหาร ไม่ว่าจะมีบราเดอร์คอยคุมหรือไม่มี เด็กเซนต์คาเบรียลก็จะเข้าคิวตลอด ถือเป็นการปลูกฝังเรื่องระเบียบวินัย ซึ่งบราเดอร์ไม่ได้พร่ำสอนอย่างเดียว แต่ปฏิบัติให้เห็นเป็นแบบอย่างด้วย
นอกจากนี้ยังได้ปลูกฝังเรื่องการทำงานหนัก เพราะที่เซนต์คาเบรียลนั้นให้การบ้านมากเหลือเกิน แต่ก็ต้องทำไม่อย่างนั้นจะถูกทำโทษ และตอนเป็นเด็กผมเองไม่ค่อยชอบเรียนหนังสือ เวลาประกาศผลสอบจะอยู่ท้ายแถวตลอด แต่บราเดอร์จะสอนว่าการทำงานหนักนั้นชนะทุกสิ่งทุกอย่าง ทำให้ผมพยายามและหันมาตั้งใจเรียน และสิ่งนี้ยังติดตัวผมมากระทั่งทุกวันนี้ ว่าความสำเร็จนั้นไม่ใช่เรื่องของพรสวรรค์ แต่การทำงานหนักจะทำให้เราประสบความสำเร็จ อีกทั้งยังมีเรื่องของทักษะภาษาอังกฤษที่ผมได้รับการฝึกฝนมาโดยตลอด ทำให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการศึกษาต่อต่างประเทศ และการทำงาน
ถัดไปคือเรื่องภาวะผู้นำที่ได้จากโรงเรียน “เรียกได้ว่าผมโชคดีที่ได้รับโอกาสจากบราเดอร์ และเพื่อนๆ โดยได้เป็นประธานเชียร์ตั้งแต่อยู่ มส.3 และเป็นรองประธานนักเรียน ได้ทำงานกับชมรมต่างๆ อาทิ ชมรมภาษาไทย ชมรมปาฐกถาโต้วาที ชมรมภาษาอังกฤษ สิ่งเหล่านี้ทำให้ได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่น ได้แสดงออก ฝึกคิดฝึกพูด ทั้งนี้บราเดอร์ท่านมีความเมตตาอนุญาตให้ใช้ห้องประชุมเพื่อจัดกิจกรรมต่างๆ ได้ เช่น จัดงานโต้วาทีกับโรงเรียนอื่น จัดแข่งขันแต่งกลอน เชิญชวนรุ่นพี่ที่จบไปแล้วมาสอนน้องๆ เป็นต้น เมื่อผมต้องทำงาน มีการพูดต่อหน้าสาธารณะ จึงไม่มีความเขินอาย และมีความเป็นธรรมชาติ เพราะโรงเรียนได้สั่งสมประสบการณ์ความเป็นผู้นำให้กับเรา”
“ในโอกาสครบรอบ 100 ปี อยากจากถึงรุ่นน้องว่าการที่เรามีตัวอักษร ซค. อยู่ที่หน้าอกนั้น ไม่เหมือนกับการไปเลือกหาสิ่งของอื่นๆ เพื่อมาเป็นของใช้ประจำตัว เช่น ถ้ามีคนมาบอกว่าแก้วน้ำใบนี้ของเราไม่สวย เราอาจจะหยิบออกหรือปฏิเสธได้ว่าไม่ใช่ของเรา แต่สถาบันการศึกษานั้นเราปฏิเสธไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่จะติดตัวเราไปตลอดชีวิต ทุกคนจึงจะต้องช่วยกันสร้างชื่อเสียง และรักษาเกียรติยศ ตลอดจนจิตวิญญาณของเซนต์คาเบรียลไว้ ทั้งความมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และเสียสละเพื่อสังคม โรงเรียนทุกโรงเรียนนั้นเหมือนกัน คือประกอบไปด้วยตึก อิฐ หิน ปูน ทราย ไม่ได้มีความหมายอะไร แต่จิตวิญญาณของโรงเรียนนั้นต่างหากที่จะทำให้เราได้รับการยกย่องจากสังคม ถ้าเราทำดีโรงเรียนก็จะดีไปด้วย ซึ่งผมคาดหวังว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้เราได้ฉลองครบรอบ 200 ปี แม้ว่าวันนั้นผมจะไม่อยู่แล้วก็ตาม” คุณประวิช กล่าวทิ้งท้าย