ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์

เวลามองไม่เห็นเรามักจะถูกครอบงำด้วยความเชื่อของสังคมว่าเราทำอะไรไม่ได้ ตัวเราก็เชื่ออย่างนั้น แต่ผมโชคดีที่มีโอกาสได้เข้าโรงเรียนสอนคนตาบอด แล้วพบกับ Miss.Jenivieve Caulfield ซึ่งท่านบอกว่า หัวใจสำคัญคือ ต้องเปลี่ยนความเชื่อให้ได้ก่อนว่าคนตาบอดนั้นทำได้ทุกอย่าง และต้องหางานที่ท้าทายทำ เพราะความท้าทายเท่านั้นจะดึงความสามารถของคนพิการออกมาได้ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์

ถ้าจะมีเรื่องราวของใครสักคนที่สามารถเป็นแบบอย่างและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่นได้ เราเชื่อว่า ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ คงจะเป็นหนึ่งในบุคคลเหล่านั้น ถึงแม้ว่าท่านจะพิการทางสายตา แต่ด้วยความไม่ย่อท้อ มุ่งมั่น ตั้งใจ จึงทำให้ประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้

โรงเรียนแห่งโอกาสของคนตาบอด

เดิมทีผมไม่ได้ตาบอดตั้งแต่กำเนิด แต่ด้วยอุบัติเหตุทำให้ตาทั้งสองข้างบอดสนิท และผมเองได้เข้ามาเรียนที่เซนต์คาเบรียลในช่วง ..2-..3 โดยผมมีความตั้งใจจะเรียนต่อทางด้านกฎหมาย ซึ่งตอนนั้นเซนต์คาเบรียลไม่มีสายศิลป์ ท่านอธิการบราเดอร์มาร์ตินก็กรุณาประสานงานให้ผมไปเรียนต่อที่โรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก ความประทับใจก็คือเซนต์คาเบรียลเสมือนเป็นโรงเรียนแห่งโอกาสของคนตาบอด เนื่องจากว่าแท้จริงแล้วโรงเรียนของรัฐบาลมีหน้าที่ให้การศึกษากับทุกคน รวมถึงคนตาบอดด้วย แต่เขาปฏิเสธที่จะรับเรา แต่โรงเรียนเซนต์คาเบรียลนั้นรองรับ และให้โอกาสได้เข้ามาเรียน

อีกทั้งท่านอธิการและมาสเตอร์ยังเอาใจใส่พวกเรามาก จะมาคอยสอบถามว่าเรียนเข้าใจไหม จดอะไรไม่ทันบ้าง จัดเพื่อนๆ เป็นเวรมาอ่านหนังสือให้ฟังโดยมีสิทธิไม่ต้องไปเข้าแถว มีเพื่อนๆ ยินดีอาสาสมัครมาช่วยอ่านหนังสือให้ผมเยอะเหมือนกัน เพราะไม่อยากเข้าแถว (อาจารย์หัวเราะ)

ผลักดันตัวเองด้วยความเชื่อว่าเราทำได้

คือเวลาที่เราไม่เห็นมักจะถูกครอบงำด้วยความเชื่อของสังคมว่าเราทำอะไรไม่ได้ ตัวเราก็เชื่ออย่างนั้น พ่อแม่ก็เชื่ออย่างนั้น เลยคิดแต่จะเลี้ยงดูเราอยู่บ้าน แต่โชคดีที่ผมได้เข้าไปเรียนที่โรงเรียนตาบอด แล้วได้พบกับ Miss.Jenivieve Caulfield สตรีตาบอลชาวอเมริกันผู้ก่อตั้งโรงเรียน ท่านบอกว่าเราต้องเปลี่ยนความเชื่อให้ได้ก่อนว่าคนตาบอดทำได้ทุกอย่าง อีกทั้งท่านยังฝึกให้ทำสิ่งต่างๆ การเดินทางไปไหนมาไหนด้วยไม้เท้า ซักผ้า รีดผ้า เพื่อให้เราช่วยเหลือตนเองได้ ตอนที่เรียนเซนต์คาเบรียลก็ต้องฝึกขึ้นรถเมล์ ฝึกการสื่อสาร ฝึกให้พิมพ์ดีด เพราะการฝึกให้เราสามารถดำเนินนชีวิตได้อย่างอิสระมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

เมื่อฝึกฝนจนเกิดความเชื่อมั่น ทำให้เราเชื่อว่าคนตาบอดก็ทำได้ทุกอย่างจริงๆ เวลาไปเรียนหนังสือท่านก็จะบอกว่า ต้องใช้จุดอ่อนให้เป็นจุดแข็งคือ ถ้าตาบอดต้องขยันเพื่อจะได้เรียนหนังสือดีๆ และหางานที่ท้าทายทำ เพราะความท้าทายเท่านั้นที่จะดึงความสามารถของคนพิการออกมาได้ สำคัญที่ต้องเชื่อว่าเราทำได้ และในที่สุดผมก็สอบเข้าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้อย่างที่ตั้งใจ โดยได้คะแนนเป็นอันดับ 1 เกียรตินิยม และสอบได้อันดับที่ 7 ของเนติบัณฑิต หลังจากนั้นเรียนต่อปริญญาโท สาขากฎหมายแพ่ง ที่ธรรมศาสตร์ ก่อนจะไปศึกษาปริญญาโทสาขากฎหมายภาษีอากร ที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา

ที่คนเลือกเซนต์คาเบรียล เพราะมีคุณธรรม และระเบียบวินัย

การทำงานที่ขับเคลื่อนเพื่อคนพิการ

ด้านการศึกษา ผมเริ่มต้นเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีความก้าวหน้าได้ตำแหน่งทางวิชาการก้าวหน้าขึ้นโดยลำดับ จนได้เป็นศาสตราจารย์เมื่อปี 2548 สอนนักศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ทั้งวิชากฎหมายแพ่ง วิชากฎหมายทรัพย์สิน ซึ่งผมมีตำราสอนเป็นของตนเอง

ด้านสังคม ผมทำงานขับเคลื่อนเพื่อให้คนพิการได้รับโอกาสอย่างผมมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันกฎหมายให้คนพิการมีสิทธิเท่าเทียมคนทั่วไป โดยเฉพาะสมัยที่ผมได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติในปี 2550 รวมทั้งจัดตั้งกองทุน โดยได้เงินเข้ากองทุนจากนายจ้างที่ไม่จ้างแรงงานคนพิการ ในอัตราส่วน 100 คน ต้องจ้างคนพิการ 1 คน ถ้าไม่จ้างต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนตามค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้มีเงินกองทุนมาจัดทำโครงการอบรม จัดตั้งศูนย์ฝึกวิชาชีพ และหน่วยบริการที่เรียกว่า Service Provider

ในส่วนของมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ส่วนใหญ่จะเป็นงานที่คนอื่นไม่ค่อยทำ คือสนับสนุนโครงการที่มีคนคิดและอยากทำเพื่อช่วยเหลือคนพิการให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม เช่น เราเข้าไปบุกเบิกศูนย์การศึกษาสำหรับคนพิการ เพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็กเล็กมีโอกาสได้ไปเรียนรวมกับเด็กทั่วไป เนื่องด้วยโรงเรียนเฉพาะของคนพิการยังมีไม่มากนัก เพื่อเร่งให้ระบบการเรียนรวม เมื่อมีครบทุกจังหวัดทางมูลนิธิก็จะพยายามให้เกิดศูนย์ย่อยตามอำเภอต่างๆ เพื่อกระจายหน่วยบริการให้กว้างขวางขึ้น

เรื่องของอาชีพก็มีความสำคัญ คือเมืองไทยเราไม่ได้คิดเรื่องหลังจบการศึกษา ว่าคนพิการนั้นจะไปทำงานที่ไหน อย่างไร มูลนิธิจึงต้องต่อยอดเรื่องการจัดหางาน และฝึกอาชีพให้เพิ่มเติม เมื่อเข้าไปทำงานในบริษัทไม่ได้ก็อาจจะต้องส่งเสริมอาชีพอิสระ เช่น การทำอาหาร กาแฟ เกษตรแปรรูป ขายสินค้าออนไลน์ เป็นต้น เพื่อให้ผู้พิการมีงานทำมากขึ้น ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราทุ่มเท

ถัดไปคือทางมูลนิธิเราได้ร่วมมือกับ NECTEC ในการขจัดปัญหาในการสื่อสารให้กับคนหูหนวก ให้สามารถคุยกับคนปกติได้ โดยไม่ต้องมีล่ามติดตามไปด้วยเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจ้าง ซึ่งทาง NECTEC ได้พัฒนาระบบบริการล่ามภาษามือผ่านระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงให้กับคนหูหนวก และสามารถใช้งานได้หลายระบบทั้งตู้ตามศูนย์หรือโรงเรียน ตลอดจนบริการผ่านมือถือ ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับคนหูหนวก

และเรื่องสำคัญที่เราต้องทำคือ การสร้างเจตคติต่อคนพิการในทางสร้างสรรค์ ทั้งทำสารคดียิ้มสู้ รวบรวมผลงานของผู้พิการทำเป็นหอศิลป์ โดยวางแผนว่าจะไปทำที่ศูนย์ฝึกอาชีพนครชัยศรี .นครปฐม ให้ทุกคนได้เห็นฝีมืองานศิลปะและความสามารถของผู้พิการที่หลากหลาย เพื่อส่งเสริมให้คนพิการใช้ความสามารถได้อย่างเต็มที่ และได้รับโอกาสที่ฝรั่งเรียกว่า Empower ได้รับการศึกษา มีงานทำอย่างคนทั่วไป มีเรื่องของ Barrier-free สภาพแวดล้อมที่ปราศจากอุปสรรค Perspective awareness ความเชื่อที่มีต่อคนพิการอย่างสร้างสรรค์ เชื่อว่าคนพิการก็มีศักยภาพเช่นเดียวกับคนทั่วไป และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขอย่างคนทั่วไปเรียกว่า Inclusive Society ซึ่งถือเป็นเป้าหมายปลายทางที่เราตั้งใจไว้

ฝากถึงโรงเรียนเซนต์คาเบรียล

ผมอยากฝากโรงเรียนไว้ในความสนใจของประชาชนในการเลือกโรงเรียนให้กับลูกหลาน เพราะนอกจากเรื่องการศึกษาที่ไม่แพ้ใคร เซนต์คาเบรียลยังเน้นเรื่องคุณธรรม และระเบียบวินัย ซึ่งมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งความเป็นเซนต์คาเบรียลคือทุกคนรักกัน ไม่ว่าจะผ่านเวลาไปนานแค่ไหน ยังมีการรวมกลุ่ม เลี้ยงรุ่นมาโดยตลอด ช่วยเหลือเกื้อกูลกันซึ่งผมคิดว่าเป็นสิ่งที่หาได้ยากในโรงเรียนอื่นๆ และฝากถึงเด็กเซนต์คาเบรียลที่จะร่วมกันสร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียนเราต่อไป