ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์

ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ถือเป็นบุคคลที่มีบทบาทในด้านการศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยและระดับนานาชาติ โดยมีผลงานโดดเด่นมากมายโดยเฉพาะเรื่องของการวิจัยและพัฒนายาต้านมาลาเรีย จนได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาชีวเคมี อีกทั้งยังเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองนายกรัฐมนตรีอีกด้วย

เซนต์คาเบรียลเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สนใจด้านวิทยาศาสตร์

สวัสดีครับผมเด็กชายยงยุทธ ยุทธวงศ์ เข้าเรียนที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียลตั้งแต่อายุ 5 ขวบจนถึงมัธยมปลาย เวลาทั้งหมด 11 ปี และเคยสอบ Pass ชั้นได้ 1 ครั้งครับ ดร.ยงยุทธ เริ่มต้นแนะนำตัวด้วยใบหน้ายิ้มแย้มและเป็นกันเอง

โรงเรียนเซนต์คาเบรียลมีอิทธิพลมากต่อความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะในช่วงการเรียนมัธยมปลาย และมีบราเดอร์หลายท่านทีทำให้ผมรู้สึกว่าการเรียนวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุกสนาน อย่าง
บราเดอร์วินเซนต์ ท่านมักจะทดลองอะไรต่างๆ ให้ดู เช่น การแสดงระเบิดน้ำไฮโดรเจนกับออกซิเจน แล้วบราเดอร์ขึ้นไปยืนบนกล่องเมื่อเกิดการระเบิดขึ้นบราเดอร์ก็ไม่ได้มีท่าทีตกใจ การทดลองจุดแมกนีเซียมแล้วมีแก๊สออกมา ท่านก็ทำท่าดมแล้วบอกว่า หืมหอม ซึ่งแท้จริงแล้วนั้นไม่ได้หอมและเป็นพิษอีกด้วย นอกจากเรื่องทฤษฎีที่บราเดอร์ มาสเตอร์สอน สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมรู้สึกว่าวิทยาศาสตร์มีความน่าสนใจ

สิ่งที่ได้รับจากโรงเรียนในด้านอื่นๆ

นอกจากเรื่องการเรียนวิทยาศาสตร์แล้ว ทำยังได้รับอิทธิพลในด้านอื่นๆ จากโรงเรียนด้วย ทั้งมิตรภาพของเพื่อน ความเป็นพี่เป็นน้อง การทำงานหนัก และเรื่องระเบียบวินัย โดยในช่วงที่ผมไปศึกษาต่อต่างประเทศ สิ่งที่ได้รับการปลูกฝังจากโรงเรียนทั้งเรื่องวิชาการและทักษะต่างๆ ส่งผลให้ผมมีความกล้าคิดกล้าทำสิ่งใหม่แต่ยังอยู่ภายใต้กรอบหรือแนวความคิดที่เคยมีมาก่อน และการทำงานหนักอย่างไม่ย่อท้อ โดยเฉพาะเรื่องของการศึกษาวิจัยต่างๆ อย่างตอนไปเรียนต่อที่อังกฤษแรกๆ เพิ่งค้นพบโครงสร้างของยีน ซึ่งน่าตื่นเต้นมากเป็นยุคที่ได้เห็นว่าวิวัฒนาการแบบของชาลส์ ดาร์วิน ที่บราเดอร์วินเซนต์เคยสอนมานั้นเป็นแบบนี้นี่เอง เช่น กลไกทางด้านโมเลกุลที่บอกว่ายีนประกอบไปด้วย DNA และ DNA ทำให้เกิดวิวัฒนาการต่อไป

การศึกษาต่อและเส้นทางการทำงาน

ในตอนแรกผมไม่ได้เลือกเรียนด้านวิทยาศาสตร์โดยตรง แต่สมัครสอบแพทยศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยมหิดล เรียนจนจบเตรียมแพทยศาสตร์ แต่ตัวผมเองไม่ได้ชอบหรืออยากเป็นแพทย์เท่าไรนัก โชคดีที่ได้รับคำแนะนำจาก .ดร.สตางค์ มงคลสุข ซึ่งเป็นคณบดี ให้ลองสอบชิงทุนไปเรียนต่อสาขาวิทยาศาสตร์เคมี ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ และศึกษาต่อระดับปริญญาเอก สาขาอินทรีย์เคมี ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง การเป็นนักวิทยาศาสตร์ผมสามารถสำรวจและทดลองอะไรใหม่ๆ ได้ทำงานเกี่ยวกับด้านเคมีและชีวเคมี เพื่อทำความเข้าใจสิ่งมีชีวิต ได้ค้นคว้าเกี่ยวกับยารักษาโรคที่อาจจะเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ได้

แต่ขณะเดียวกันผมก็ให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องนโยบายที่จะนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพัฒนาประเทศ จึงได้มีส่วนช่วยในการจัดตั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันคือกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นการทำงานที่นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในชีวิตจริง สร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นมาหรือที่เราเรียกกันว่านวัตกรรม นำสิ่งที่ศึกษาค้นพบมาต่อยอดพัฒนาให้ดีขึ้น ตลอดจนสร้างรายได้และพัฒนาประเทศ เพราะว่าประเทศของเรานั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความก้าวหน้าในด้านนี้

เซนต์คาเบรียลได้ผลิตศิษย์เก่าที่มีบทบาทในด้านต่างๆ มากมาย

ปัจจุบันผมทำงานในเชิงที่ปรึกษาให้กับสำนักงานวิยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งเป็นสำนักงานที่ผมมีโอกาสได้เป็นผู้อำนวยการคนแรก อีกทั้งยังเคยได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในคณะรัฐมนตรีของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ และหลังจากนั้นได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดูแลด้านวิทยาศาสตร์ สาธารณสุข ตลอดจนการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทำให้เห็นได้ว่าวิทยาศาสตร์ไม่ใช่เป็นเรื่องของทฤษฎี วิชาการ หรืออยู่ในตำราเรียน แต่ยังสามารถนำมาพัฒนาประเทศให้มีความก้าวหน้าได้อีกด้วย

นอกจากนี้ในส่วนของงานวิจัย ดร.ยงยุทธ ยังมีผลงานที่สำคัญคือ การค้นพบกลไกของการดื้อยาแอนติโฟเลตของเชื้อมาเลเรีย ทำให้สามารถศึกษาและวิจัยจนได้ตัวยาที่มีฤทธิ์ต่อเชื้อที่ดื้อยาเก่าได้ อีกทั้งยังเป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกของโลกที่ค้นพบโครงสร้างเกี่ยวกับโปรตีนของเชื้อมาลาเรีย ที่มีความสำคัญต่อการวิจัยและเป็นแนวทางในการพัฒนายาต้านมาลาเรีย อีกทั้งยังได้รับรางวัลจากทั้งในและต่างประเทศมากมาย

ความประทับใจและสิ่งที่อยากฝากถึงโรงเรียนในโอกาสครบรอบ 100 ปี

  ผมคิดว่าทุกคนพอจะทราบกันอยู่แล้วว่าโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ได้ผลิตศิษย์เก่าที่มีบทบาทในการช่วยพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ มากมาย และผมมองว่านี่เป็นเพียง 100 ปีแรกเท่านั้น เพราะเราจะเห็นได้ว่าโรงเรียนอื่นที่สำคัญในโลกนี้ เขาไม่ได้อยู่แค่ 100 ปี แต่บางโรงเรียนนั้นมีอายุ 300-500 ปี เซนต์คาเบรียลก็มีโอกาสที่จะเป็นเช่นนั้นได้เช่นเดียวกัน

จึงอยากฝากถึงเรื่องการเรียนการสอน เนื่องด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป จากเดิมครูผู้สอนนั้นจะเป็นผู้ให้ความรู้ต่างๆ แต่ปัจจุบันผู้เรียนเป็นทั้งเครื่องรับและเครื่องส่ง การเรียนรู้จึงไม่ได้จำกัดแค่การสอนจากครูเพียงอย่างเดียว แต่นักเรียนสามารถแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง ดังนั้นครูจึงจะต้องมีบทบาทสำคัญในการช่วยแนะนำ เพื่อให้นักเรียนนั้นเลือกรับสารอย่างถูกต้องและเป็นประโยชน์